รูปแบบการสอน แบบโครงการ



บทนำ

การสอนแบบโครงการเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบจากการเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เด็กสนใจจะเรียนรู้อย่างลุ่มลึกด้วยกระบวนการแก้ปัญหา

การสอนแบบโครงการคืออะไร?

การสอนแบบโครงการ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับเด็ก ส่งเสริมให้เด็กแสวงหาคำตอบจากการเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึกเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยที่เด็กหรือครูร่วมกันกำหนดเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ แล้วดำเนินการแสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการแก้ปัญหา โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและจากแหล่งเรียนรู้

การสอนแบบโครงการมีที่มาอย่างไร?

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการได้เริ่มในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงศตวรรษที่ 19-20 เป็นความคิดริเริ่มของ William Heard Kilpatrick นักการศึกษาอเมริกัน ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของ John Dewey ที่สนับสนุนให้สร้างประสบการณ์ทางการศึกษาเพื่อช่วยให้เด็กเกิดความตระหนักในชุมชน นำมาประยุกต์ สอนเด็กถึงวิธีการใช้โครงการที่เกี่ยวกับประสบการณ์จริงให้เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษามากกว่าการเตรียมเด็กเพื่ออนาคต ในช่วงปี ค.ศ. 1934 Lucy Sprague Mitchell นักการศึกษาจาก The Bank Street College Of Education นครนิวยอร์ก ออกศึกษาสิ่งแวดล้อมและสอนครูให้รู้จักวิธีการใช้โครงการ ซึ่งเป็นวิธีสอนที่พัฒนาโดยวิทยาลัยการศึกษาแบงก์สตรีทมีส่วนคล้ายคลึงอย่างมากกับการสอนแบบโครงการ ผลการทดลองใช้พบว่า เด็กเรียนรู้ได้ดีจากการวางแผนทำงานร่วมกัน ได้ตัดสินใจและเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการเรียน ผลการเรียนรู้ส่งเสริมศักยภาพของเด็กทุกด้าน ต่อมาในปี ค.ศ.1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน Villa Cella ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมือง Reggio Emilia 2-3 ไมล์ แม่บ้านกลุ่มหนึ่งร่วมมือกับ Malaguzzi นักการศึกษา และกลุ่มผู้ปกครองจัดการศึกษาให้เหมาะกับเด็กที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนปรักหักพังเพราะผลจากสงครามโลก และทำการศึกษาค้นคว้าทฤษฎี บทความ งานวิจัย ข้อคิดเห็นจากศาสตร์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทดลองปฏิบัติ แล้ววิเคราะห์ สะท้อนผลการปฏิบัติ ทำการปรับปรุงจนได้แนวคิดและการปฏิบัติในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย และประสบผลสำเร็จจนเป็นที่รู้จักในกลุ่มยุโรปอเมริกาเหนือ และอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 Reggio Emilia ได้กลายเป็นชื่อของแนวคิดในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย และ การเรียนรู้อย่างลุ่มลึกจากงานของโครงการ (Projects) เป็นกิจกรรมการสอนที่ โดดเด่นในโรงเรียนตามแนวคิด Reggio Emilia การจัดประสบการณ์แบบโครงการได้รับการพัฒนารูปแบบให้ชัดเจนขึ้นโดย Katz ชาวอเมริกา และ Chard ชาวแคนาดา ที่ได้ไปศึกษาดูงานการเรียนการสอน Project Approach จากโรงเรียนก่อนประถมศึกษาในเมือง Reggio Emilia ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี และทั้งสองก็ได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อว่า Engaging Children , s Mind : The Project Approach ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ได้เป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์แบบโครงการในระยะต่อมา
สำหรับประเทศไทยมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางการศึกษาได้จัดหลักสูตรที่กำหนดรายวิชา นวัตกรรมการศึกษา โดยให้นักศึกษาเรียนและทดลองจัดการสอนแบบโครงการให้แก่เด็กปฐมวัยเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ต้องฝึกปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาวิจัยในหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ส่วนสถานศึกษาระดับปฐม วัยทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจนำนวัตกรรมการสอนแบบโครงการไปใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

การสอนแบบโครงการมีลักษณะอย่างไร?

การสอนแบบโครงการเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีลักษณะสำคัญดังนี้
  • ความคิดพื้นฐานเชื่อว่า การเรียนรู้ของเด็กมาจากการกระทำ เด็กเป็นผู้ที่ต้องพัฒนา มีความคิด มีความมุ่งหมาย ความต้องการที่จะเรียนรู้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของตนเองต้องพึ่งตนเอง การสอนแบบโครงการมุ่งพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็กไปพร้อมกัน
  • วิธีจัดการเรียนการสอนมี 4 ระยะ คือ
    • ระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ เด็กจะร่วมกันคิดเรื่องที่สนใจ
    • ระยะที่ 2 ระยะวางแผนโครงการ เป็นช่วงเวลาที่กำหนดจุดประสงค์ว่าต้องการเรียนรู้อะไร กำหนดขอบเขตเนื้อหา ระยะเวลาและวิธีการศึกษา
    • ระยะที่ 3 ดำเนินโครงการตามที่กำหนดไว้ ที่เน้นระบวนการแก้ปัญหา จัดเป็นหัวใจของการสอนแบบโครงการ เพราะเด็กจะได้รับข้อมูลใหม่จากประสบการณ์ตรงหรือเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานเพราะเด็กได้สนทนา พูดคุยกับบุคคล และสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้ ขณะเดียวกันเด็กสามารถค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลรอง (Secondary Sources) เช่น การดูวีดีทัศน์ การอ่านหนังสือ เป็นต้น
    • ระยะที่ 4 สรุปโครงการ ครูและเด็กร่วมวางแผนสรุปโครงการ เป็นขั้นตอนการประเมินโครงการ ทบทวนการปฏิบัติ และวางแผนโครงการใหม่ วิธีการสรุปโครงการอาจจะให้เด็กนำผลงานที่ได้รับมอบหมายมาแสดงต่อครูแล้วอภิปรายประเด็นปัญหา หรือให้เด็กนำเสนอผลงาน ในรูปของการจัดแสดง จัดเป็นนิทรรศการ หรือสาธิตผลงาน
  • มีกิจกรรมหลักในโครงการ 4 กิจกรรมคือ กิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน กิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมสืบค้น และกิจกรรมนำเสนอผลงาน
  • กิจกรรมสืบค้นมีหลากหลายได้แก่ การรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ การปฏิบัติทดลอง การรวบรวมเอกสาร การรายงาน การจัดแสดงผลงานที่ได้จากโครงการ เป็นต้น
  • เรื่องที่จะเรียนมาจากความสนใจของเด็กที่ต้องการเรียนอย่างลุ่มลึก เด็กจึงเป็นผู้วางแผนและร่วมคิด ร่วมมือสืบค้นกับผู้อื่น ครูเป็นผู้สนับสนุน สังเกตและอำนวยความสะดวก หากเรื่องนั้นมีความเป็นไปได้ มีแหล่งข้อมูลเพียงพอ พ่อแม่และชุมชนมีความพร้อมที่จะร่วมมือ
  • ทักษะการเรียนรู้หนังสือจำนวน ให้บูรณาการในหัวเรื่องโครงการ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา ดังนั้น หัวเรื่องหนึ่งที่เด็กสนใจเรียนรู้นั้นต้องมีเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์และควรสำรวจที่โรงเรียนเหมาะกว่าที่บ้าน

การสอนแบบโครงการมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร?

การจัดการสอนแบบโครงการเป็นที่สนใจของนักการศึกษาจึงได้นำไปใช้และวิจัยสรุปถึงประโยชน์ที่มีต่อเด็กดังนี้
  • เด็กจะเห็นคุณค่าของตนเอง เป็นแนวทางให้เด็กพึ่งพาตนเองได้
  • ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้ทักษะที่มีอยู่
  • เด็กเกิดแรงจูงใจภายในและความสามารถที่เกิดจากตัวเด็กเองในงานและกิจกรรมที่ทำ
  • เด็กรู้จักตัดสินใจว่าควรทำอะไร และผู้ใหญ่ยอมรับในความต้องการของเด็ก
  • เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง อย่างมีความสุข สนุกสนานเพราะเด็กได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้
  • ส่งเสริมให้เด็กมีวิธีการทำงานอย่างมีแบบแผน
  • สามารถนำรูปแบบการสืบค้นความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง
  • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและครอบครัว เนื่องจากการสอนแบบโครงการ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องร่วมมือกับครูสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กทุกรูปแบบ

สถานศึกษาใดที่จัดการสอนแบบโครงการ?

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช) ได้จัดการเรียนการสอนแบบโครงการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542-ปัจจุบัน หลังจากคณะครูโรงเรียนสาธิตได้รับการอบรมปฏิบัติ การสอนแบบโครงการจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรภรณ์ วสุวัต ผู้วิจัยการสอนแบบโครงการ และศึกษาดูงานโรงเรียนที่จัดการสอนแบบโครงการจากโรงเรียนเกษมพิทยา กรุงเทพมหานคร อาจารย์หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ และคณะครูโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงร่วมมือจัดการเรียนการสอนแบบโครงการปีละ 1 เรื่องๆละ 1 เดือน ในภาคเรียนที่ 2 โดยมีนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยร่วมฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูและทำวิจัยชั้นเรียน การจัดการเรียนการสอนอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าเด็กเป็นผู้เรียนรู้ได้จากการปฏิบัติด้วยตนเองโดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียน บ้านและชุมชน สนับสนุนให้เด็กทำงานโดยส่งเสริมการวางแผน การค้นคว้าทดลอง การทำงานและการแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนเรื่องที่จะเรียนเกิดจากความสนใจของเด็ก แต่ครูจะเป็นผู้สังเกตและสร้างความสนใจให้เด็กเรียนเรื่องที่ใกล้ตัว มีแหล่งเรียนอยู่ในท้องถิ่น มีวิทยากรที่ให้ความร่วมมือ เรื่องเป็นประโยชน์และผู้ปกครองมีโอกาสสนับสนุนการเรียนรู้ของลูก เมื่อดำเนินการจัดประสบการณ์จะมีลักษณะบูรณาการการเรียนทั้งด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะนำการสอนแบบโครงการมาประยุกต์ใช้กับลูกได้อย่างไร?

การจัดการสอนแบบโครงการนำมาประยุกต์ใช้ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องที่เขาสนใจทั้งในแนวกว้างและแนวลุ่มลึกที่เขาสามารถเรียนได้ สนับสนุนลูกให้สืบหาคำตอบด้วยตนเองโดยพ่อแม่หรือพี่ น้องวัยใกล้เคียงกันเป็นเพื่อนร่วมเรียน ด้วยวิธีการอ่านหนังสือ การวาดภาพ การสร้างเรื่อง การสังเกต การเขียน และรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจจะเป็นญาติผู้ใหญ่ เช่น ย่า ยาย เพื่อนบ้าน นำลูกไปเรียนรู้ที่แหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ลูกประมวลความรู้ที่ค้นพบ สิ่งสำคัญ พ่อแม่จะต้องเข้าใจว่าการสอนแบบโครงการจะต้องอาศัยเวลา บางครั้งลูกอาจจะประมวลสรุปความรู้ไม่ได้ ต้องค้นหาสาเหตุ บางครั้งอาจจะเกิดจากเรื่องที่สนใจนั้นใช้เวลาศึกษายาวนาน หรือการรับรู้เรื่องราวขาดการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิม เมื่อลูกได้รับการส่งเสริมให้สืบค้นความรู้ด้วยกระบวนการแก้ปัญหา พ่อแม่จะสังเกตพบว่า ลูกได้ใช้ภาษา ได้พัฒนาทักษะสังคม ได้พัฒนาความคิดผ่านการใช้คำถาม การแก้ปัญหา และได้ทักษะการสังเกต

เกร็ดความรู้เพื่อครู

การสอนแบบโครงการเกิดจากความเชื่อว่าเด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการให้เด็กเป็นผู้แสวงหาความรู้ หาคำตอบในเรื่องที่เขาสนใจ ครูคือผู้มีบทบาทสำคัญที่ควรส่งเสริมให้เด็กได้สัมผัส ได้เรียนรู้จากสถานที่จริง ให้เด็กได้เรียนรู้กับเพื่อนและบุคคลอื่นนอกเหนือจากครู ครูต้องอดทน รอคอยการสร้างองค์ความรู้ของเด็กมากกว่าจะบอกคำตอบให้เด็กทันที การเรียนแบบโครงการต้องใช้เวลา ครูจึงต้องวางแผนจัดกิจกรรมทุกระยะของโครงการด้วยความร่วมมือกับผู้บริหารและผู้ปกครอง

บรรณานุกรม

  1. กุลยา ตันติผลาชีวะ. (2545). รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัยศึกษา. กรุงเทพมหานคร: บริษัท เอดิสัน เพรสโปรดักส์ จำกัด.
  2. จิรภรณ์ วสุวัต. (2540). การพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมจริยธรรมทางสังคมของเด็กวัยอนุบาลตามแนวคิดคอนสตัคติวิสโดยการใช้ประสบการณ์แบบโครงการ. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. พัชรี ผลโยธิน. (2544). เด็กปฐมวัยกับการเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  4. วัฒนา สมัคคสมัน. (2539). การพัฒนารูปแบบการสอนตามหลักการสอนแบบโครงการเพื่อสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กวัยอนุบาล วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. สมสุดา มัธยมจันทร์. (2544). การศึกษาสภาพและปัญหาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยการใช้การสอนแบบโครงการในโรงเรียนอนุบาล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาเอกชน วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  6. สุจินดา รุ่งขจรศิลป์. (2543).การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย: ตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด .
  7. สุดารัตน์ พลแพงพา. (2544). ผลการสอนนิทานชาดกเรื่อง พระมหาชนกโดยใช้การสอนแบบโครงการที่มีต่อความเพียรของเด็กวัยอนุบาล. วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  8. บุบผา เรืองรอง. (2543). การสอนแบบโครงการ. เอกสารประกอบการบรรยายในโครงการอบรมครูประจำการโรงเรียนเครือข่ายการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช:คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช .
  9. อำพวรรณ์ เนียมคำ. (2544). ผลการจัดประสบการณ์แบบโครงการที่มีต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย . ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  10. Katz, L.G. and Chard ,S.C.(1994). Engaging children’s mind: The project approach. New Jersey: Ablex.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น